หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประวัติของ Console

          
ประวัติของ Console

          ลองจินตนาการว่า ในที่สุดคุณก็ได้นำเงินกว่า 13,000 บาทที่เก็บหอมรอมริบมาหลายปีไปซื้อเครื่องเล่นเกมคอนโซลที่อยากได้จนสำเร็จ แต่หลังจากที่นำมันมาต่อเข้ากับโทรทัศน์ ภาพของเกมที่ปรากฏกลับมีเพียงจุดสี่เหลี่ยมและเส้นสีขาวหนึ่งเส้นเท่านั้น ... แน่นอนว่าเราอาจรับไม่ได้ แต่เกมที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้สร้างความประทับใจอย่างมากให้กับเกมเมอร์ในปี 1972 มาแล้ว โดยเครื่องเล่นเกมคอนโซลเครื่องแรกของโลกที่มีชื่อว่า Magnavox Odyssey ที่จำหน่ายในราคา 75 เหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 13,000 บาทโดยประมาณในปัจจุบัน) จะมาพร้อมแผ่นกระดาษไขพิมพ์ลวดลายในแบบต่างๆ สำหรับนำไปติดบนจอโทรทัศน์เพื่อใช้เป็นแบ็กกราวน์ของเกม ส่วนคะแนนนั้นผู้เล่นจะต้องจดบันทึกลงในกระดาษ

    
          ฟังก์ชันปัญญาประดิษฐ์สามารถบุกเบิกตลาดได้สำเร็จเป็นครั้งแรกด้วยเครื่อง Atari 2600 และครองตลาดได้นานกว่า 10 ปี ในระหว่างนั้น Milton Bradley บริษัทเกมของสหรัฐก็ได้ทำการย่อเทคโนโลยีเครื่องเล่นเกมคอนโซลให้เล็กจนกระทั่งพกพาได้เป็นครั้งแรกในเครื่อง Microvision  แต่สุดท้ายด้วยปริมาณเกมที่ออกมารองรับหน้าจอขนาดเล็กนี้มีค่อนข้างน้อย จึงทำให้มันหมดความนิยมอย่างรวดเร็ว ในปี 1983 บริษัทเกมในสหรัฐต้องเผชิญกับวิกฤตอย่างรุนแรง ผู้ผลิตหลายรายขาดทุนจนถึงขั้นล้มละลาย ซึ่งเหตุผลสำคัญก็คือการเปิดตลาดของคอมพิวเตอร์ภายในบ้าน ที่ไม่เพียงแต่มีประสิทธิภาพสูงกว่า สามารถใช้งานได้หลากหลายกว่า แต่เกมยังถูกก๊อบปี้ได้ง่ายอีกด้วย วิกฤตการณ์ของวงการเกมสิ้นสุดลงในปี 1985 เมื่อบริษัท Nintendo เปิดตัวเครื่องเล่นเกม NES (Nintendo Entertainment System) ในสหรัฐและยุโรปในปีถัดไปอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่จุดประกายความสำเร็จในครั้งนี้ก็คือเกม “Super Mario Bros.” ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของเกมแนว วิ่งแล้วกระโดดจวบจนปัจจุบัน อีกทั้งยังถือเป็นเกมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย

          ก้าวใหญ่ของญี่ปุ่น: เครื่องเล่นเกมจากตะวันออกไกล
ปรากฏการณ์ Super Mario ส่งผลให้แกนหลักของอุตสาหกรรมย้ายจากฝั่งอเมริกามายังญี่ปุ่นแทน และตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีในช่วงดังกล่าวถือได้ว่า Nintendo มีชื่อเสียงโด่งดังและประสบความสำเร็จอย่างงดงามแบบฉุดไม่อยู่ทั้งในแง่ของผู้ผลิตเครื่องเล่นและผู้ผลิตเกม Nintendo ยังสานต่อความสำเร็จด้วยเครื่องเล่นเกมพกพา “Game Boy” ซึ่งก็ได้รับความนิยมถล่มทลายเช่นกัน ถัดจากนั้น Nintendo ก็ส่งเครื่อง “SNES” (Super NES) ที่นำเอาเทคโนโลยี 16 บิตมาใช้เพื่อช่วยให้ภาพกราฟิกในเกมสวยงามมากขึ้นและกลายเป็นเครื่องเล่นเกมที่ขายดีที่สุดตลอดกาลในที่สุด

          Sony เริ่มเข้าสู่วงการในปี 1994 ด้วยเครื่อง “PlayStation” ที่มาพร้อมเทคโนโลยี 32 บิต และระบบประมวลผลภาพกราฟิกสามมิติ โดยที่ตัวเกมจะบรรจุไว้ในแผ่นซีดีรอม ซึ่งด้วยรูปแบบการเล่นที่แปลกใหม่และมีเกมที่มีกราฟิกสวยงามมากมายส่งผลทำให้เครื่องเล่น PlayStation สามารถเบียดและเอาชนะคู่แข่งอย่าง Nintendo ไปได้ จากนั้นในปี 2001 อเมริกาก็กลับเข้ามาสู่สนามแข่งขันอีกครั้งด้วยเครื่องเล่น Xbox จาก Microsoft ที่ได้เปรียบในเรื่องของการเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและทำให้ PlayStation ของ Sony ต้องตกอยู่ในสภาวะกดดันอย่างหนักและถูกทำยอดขายแซงหน้าได้สำเร็จด้วยเครื่องเล่น Xbox 360 แม้ว่า Sony จะส่งเครื่องเล่นที่มีความสมบูรณ์แบบอย่าง PlayStation 3 ที่มาพร้อมไดรฟ์บลู-เรย์ประสิทธิภาพสูงก็ตาม


          Sony และ Microsoft แข่งขันกันอย่างดุเดือดโดยที่ไม่ทันได้คาดคิดว่า Nintendo จะตื่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยในปี 2006 Nintendo ประกาศทวงบัลลังก์เกมคอนโซลด้วยเครื่องเล่น “Wii” ที่มาพร้อมระบบควบคุมการเล่นด้วยเทคโนโลยีการตรวจจับความเคลื่อนไหวแทนการใช้จอยแพดธรรมดา ส่งผลให้เครื่อง Wii ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงและสามารถทำยอดจำหน่ายแซงหน้าทั้ง Xbox 360 และ PlayStation 3 โดยมีตัวเลขทะลุ 70 ล้านเครื่องแล้ว ขณะนี้คู่แข่งทั้งหลายกำลังพยายามที่จะเอาชนะ Nintendo ด้วยการใช้อาวุธของ Nintendo เอง โดยในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Sony ได้เปิดตัวคอนโทรลเลอร์ที่ใช้ระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวที่มีชื่อว่า “PlayStation Move” ส่วน Microsoft ก็ไม่น้อยหน้าด้วยการเปิดตัว “Project Natal” ที่ควบคุมการเล่นด้วยกล้องเว็บแคมความละเอียดสูงโดยที่ผู้เล่นไม่จำเป็นต้องถือคอนโทรลเลอร์ใดๆ เลย ในขณะที่ความเคลื่อนไหวในอนาคตนั้นเป็นที่แน่นอนแล้วว่าระบบ 3D จะเข้ามามีบทบาทในการเล่น ซึ่ง Sony ก็ได้เตรียมอัพเดตเฟิร์มแวร์ให้เครื่อง PlayStation 3 รองรับเกม 3D  ได้ ส่วน Nintendo ก็เตรียมส่งเครื่องเล่นพกพา 3D “Nintendo 3DS” ในช่วงต้นปีหน้านี้ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าผู้พัฒนาจะสรรหาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดแค่ไหนมาแข่งขัน ผู้ที่ตัดสินว่าใครจะชนะก็คือตัวผู้เล่นนั่นเอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น